ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บขององค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม
อีเมลล์. obtnaudom@gmail.com
เบอร์โทร. 042-049872 สำนักปลัด, 042-049873 กองคลัง, 042-049874 ปภ, 042-049875 ศพด.นาอุดม
องค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร
Naudom Subdistrict Administration Organization
อบต.นาอุดม ขอแจ้งเปลี่ยนแปลงหมายเลขโทรศัพท์ดังนี้ 1 สำนักปลัด 042-049872 :2 กองคลัง 042-049873 :3 ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 042-049874 :4 ศพด.วัดนาอุดม 042-049875

ผู้บริหาร สมาชิกสภา

ลิงค์สำคัญ

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์

ประกาศองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม เรื่อง ประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น

...

ร่าง

หลักการ

ให้มีข้อบัญญัติว่าด้วยหลักเกณฑ์การคัดแยกมูลฝอย

เหตุผล

                 เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสะอาดและการจัดระเบียบในการคัดแยกมูลฝอยในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม ซึ่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่๒) พ.ศ.๒๕๖๐ ให้กระทำได้โดยการตราเป็นข้อบัญญัติ จึงตราข้อบัญญัตินี้

ร่าง

รื่อง หลักเกณฑ์การคัดแยกมูลฝอย พ.ศ. ...............

          โดยที่เป็นการสมควรตราข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมว่าด้วยหลักเกณฑ์การคัดแยกมูลฝอย

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๖ และมาตรา ๓๔/๓ (๒) แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่๒) พ.ศ.๒๕๖๐ องค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมโดยความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมและนายอำเภอนิคมดำสร้อยจึงตราข้อบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้

 

          ข้อ ๑ ข้อบัญญัตินี้เรียกว่า “ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดแยกมูลฝอย พ.ศ. ...................

          ข้อ ๒ ข้อบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          ข้อ ๓ ในข้อบัญญัตินี้

          “มูลฝอย” หมายความว่า เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร เศษสินค้า เศษวัตถุ ถุงพลาสติก ภาชนะที่ใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ ซากสัตว์ หรือสิ่งอื่นใดที่เก็บกวาดจากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์ หรือที่อื่น               และหมายความรวมถึงมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน

          “มูลฝอยอินทรีย์” หมายความว่า มูลฝอยที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น ซากหรือชิ้นส่วนของพืชและสัตว์  มูลสัตว์ เศษอาหาร หรือมูลฝอยอื่นๆ ที่ย่อยสลายได้ง่าย

          “มูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่” หมายความว่า มูลฝอยที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ ได้แก่ แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก และวัสดุอื่นๆ (ตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น)

          “มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายต่อชุมชน” หมายความว่า มูลฝอยที่ปนเปื้อนหรือมีส่วนประกอบของวัตถุที่อาจเป็นอันตรายหรือกระทบต่อสุขภาพอนามัยของบุคคล หรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ กระป๋องหรือภาชนะอื่นใดที่ใช้บรรจุสารเคมี หรือวัตถุวัตถุที่อาจเป็นอันตราย ข้างต้น

          “มูลฝอยทั่วไป” หมายความว่า มูลฝอยประเภทอื่น นอกเหนือจากมูลฝอยอินทรีย์ มูลฝอยที่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือมูลฝอยที่เป็นพิษหรือเป็นอันตรายจากชุมชน

“อาคาร” หมายความว่า ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน เรือ แพ ตลาด คลังสินค้า สำนักงาน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่ หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึงอัฒจันทร์ เขื่อน ประตูน้ำ อุโมงค์  หรือป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาหารด้วย

          ข้อ ๔ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารคัดแยกมูลฝอยแต่ละประเภท ดังนี้

                   (๑) มูลฝอยทั่วไป

                   (๒) มูลฝอยอินทรีย์

                   (๓) มูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่

                   (๔) มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน

                                                   

          ข้อ ๕ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องบรรจุมูลฝอยที่คัดแยกแล้วแต่ละประเภทตามข้อ 4 ในถุงหรือภาชนะบรรจุมูลฝอย ให้เพียงพอและเหมาะสมกับประเภทของมูลฝอยนั้น

          ถุงสำหรับบรรจุมูลฝอยต้องมีความทนทาน ไม่ฉีกขาดง่าย ไม่รั่วซึม มีขนาดที่เหมาะสม สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก การบรรจุมูลฝอยในถุงต้องมีปริมาณที่เหมาะสม ปิดถุงด้วยการมัดหรือผนึกด้วยวิธีอื่นใดให้มิดชิด รวมทั้งจัดการป้องกันมิให้มูลฝอย น้ำ กลิ่น หรือสิ่งสิ่งอื่นอันเกิดจากมูลฝอยตกหล่น รั่วไหลออกจากภาชนะ และสัตว์และแมลงเข้าไปในภาชนะได้

          ข้อ ๖ มูลฝอยที่มีสภาพ ลักษณะ หรือขนาด ที่ไม่สามารถบรรจุในถุงหรือภาชนะบรรจุมูลฝอยได้ ให้คัดแยกไว้ต่างหาก ตามประเภทของมูลฝอย โดยต้องจัดการให้ถูกสุขลักษณะ (ตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)

          ข้อ ๗ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนำถุงหรือภาชนะบรรจุมูลฝอยที่คัดแยกประเภทไว้แล้ว    ทิ้งตามวัน เวลา และสถานที่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมประกาศกำหนด

          ข้อ ๘ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อบัญญัตินี้ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

          ข้อ ๙ ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมเป็นผู้รักษาการตามข้อบัญญัตินี้

 

                                      ประกาศ ณ วันที่............ เดือน............................ พ.ศ. ...................

 

 

                                                (ลงชื่อ)

                                                          (นายจำนงค์ ผลาเหิม)

                                                    นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม

 

เห็นชอบ

          ......................................................

          (....................................................)

               นายอำเภอนิคมคำสร้อย

 

หลักการและเหตุผล

ประกอบข้อบัญญัติตำบลนาอุดม

เรื่อง   การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัขและแมว  พ.ศ. ................

...............................................

 

 

หลักการ

 

                 เพื่อเป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการควบคุมการเลี้ยงและปล่อยสุนัขและแมวเพื่อมิให้ก่อให้เกิดเหตุรำคาญ และป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม จึงได้จัดทำข้อบัญญัติการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัขและแมว พ.ศ.................

 

                                                          เหตุผล

 

                   ด้วยเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีการเลี้ยงสุนัขและแมวเป็นจำนวนมาก ซึ่งในบางครั้งเจ้าของสุนัขและแมวยังไม่มีความตระหนักใน เรื่อง การดูแลรักษาเลี้ยงดูและการควบคุมการปล่อยสุนัขและแมว  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุนัขกัดทำร้ายผู้อื่นที่มิใช่เจ้าของ หรืออาจเกิดโรคติดต่อจากสุนัขหรือแมวสู่คนเพื่อเป็นการดูแลรักษาสุขภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมให้ดีขึ้น  เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับเหตุเดือดร้อน จากการเลี้ยงสัตว์  การควบคุมโรคระบาดมลภาวะ  และสภาพแวดล้อมเป็นพิษ  และกำหนดมาตรการในการควบคุม  การเลี้ยงหรือปล่อยสุนัขและแมว  จึงได้ตราข้อบัญญัติเรื่องนี้ขึ้น

 

 

ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม

เรื่อง   การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัขและแมว  พ.ศ. .................

............................................................

 

          โดยที่เห็นเป็นการสมควรตราข้อข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัขและแมว  พ.ศ. ..............   ขึ้นบังคับใช้

          อาศัยอำนาจมาตรา มาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๒ ประกอบ มาตรา ๒๙  แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ องค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมโดยได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมและนายอำเภอนิคมคำสร้อย  จึงตราข้อบัญญัติไว้ ดังต่อไปนี้

 

          ข้อ ๑ ข้อบัญญัตินี้เรียกว่า “ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม  เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัขและแมว พ.ศ. ............. ”

          ข้อ ๒ ข้อบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมแล้ว ๗ วัน

          ข้อ ๓ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้ว ในข้อบัญญัตินี้  หรือซึ่งขัดแย้งกับข้อบัญญัตินี้ให้ใช้ข้อบัญญัตินี้แทน

          ข้อ ๔ ข้อบัญญัตินี้ มิให้ใช้บังคับแก่สัตว์ของทางราชการ

          ข้อ ๕ ในข้อบัญญัตินี้

          “สัตว์ ”  หมายถึง  สุนัขและแมว

          “การจดทะเบียน”  หมายถึง การออกใบรับรองรูปพรรณสัณฐานและหรือการทำเครื่องหมายระบุตัวของสุนัขหรือแมว หรือวิธีอื่นใดที่องค์การบริหารส่วนตำบลกำหนด

          “ การขึ้นทะเบียน “  หมายถึง การนำเอกสารเกี่ยวกับสุนัขหรือแมวที่จดทะเบียนไว้แล้ว  แจ้งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อบันทึกรายละเอียดรูปพรรณสัณฐาน  และทำบัตรประจำตัวสุนัขหรือแมวตามแบบท้ายข้อบัญญัตินี้

           “ เจ้าของสุนัขหรือแมว”  หมายถึง  ผู้ครอบครองสุนัขหรือแมวหรือผู้ให้อาหารสุนัขหรือแมวเป็นประจำ

           “ การปล่อยสุนัขหรือแมว” หมายถึง การสละการครอบครองหรือปล่อยให้อยู่นอกสถานที่เลี้ยงโดยปราศจากการควบคุม

           “ เขตควบคุมการเลี้ยงสัตว์” หมายถึง เขตที่เจ้าของบ้านหรือเจ้าของสัตว์ที่เจ้าบ้านยินยอมให้สัตว์พักอาศัยต้องนำสัตว์ไปขึ้นทะเบียนและปฏิบัติตามข้อบัญญัตินี้

           “สถานที่เลี้ยงสัตว์” หมายถึง กรง ที่ขัง หรือที่เลี้ยงอื่นที่มีการควบคุมของเจ้าของสัตว์

           “ที่หรือทางสาธารณะ” หมายถึง สถานที่หรือทางซึ่งไม่ใช่เป็นของเอกชนและประชาชนสามารถใช้ประโยชน์หรือใช้สัญจรร่วมกันได้

           “สิ่งปฏิกูล” หมายถึง อุจจาระหรือปัสสาวะและสิ่งอื่นใดซึ่งเป็นสิ่งโสโครกมีกลิ่นเหม็น

           “ สุนัขควบคุมพิเศษ”  หมายถึง

             (๑) สุนัขสายพันธ์ที่ดุร้าย เช่น ลอตไวเลอร์ (Rottweiller)  พิทบูลเทอเรีย (pitbull  terrier)   บูลเทอเรีย   (bullterrier)   สเตฟฟอร์ดเชอร์บูลเทอเรีย   (Staffordshire  bullterrier)   และสายพันธุ์อื่นที่องค์การบริหารส่วนตำบลประกาศ กำหนด

             (๒) สุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน โดยมีหลักฐานการแจ้งความต่อ  เจ้าหน้าที่ตำรวจ

             (๓) สุนัขที่มีพฤติกรรมไล่ทำร้ายคนหรือสัตว์  โดยปราศจากการยั่วยุ

        “องค์การบริหารส่วนตำบล” หมายถึง องค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม

        “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายถึง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม

        “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายถึง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อบัญญัตินี้

         “เจ้าพนักงานสาธารณสุข” หมายถึง เจ้าพนักงานซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕

       ข้อ ๖ ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดมรักษาการตามข้อบัญญัตินี้  และให้มีอำนาจออกข้อบังคับ  ระเบียบ  คำสั่ง  ประกาศ  เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อบัญญัตินี้

 

หมวดที่  ๑

บททั่วไป

 

           ข้อ ๗ ให้พื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเขตควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์

           ข้อ ๘ ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะ  หรือในที่อื่นใดที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดโดยเด็ดขาด

 

หมวดที่  ๒

การจดทะเบียนสุนัขและแมว

 

          ข้อ ๙ ในการจดทะเบียนสัตว์  ให้เจ้าของบ้าน  หรือเจ้าของสัตว์  นำสัตว์ที่มีอายุตั้งแต่  ๖๐  วันขึ้นไป    ยื่นคำขอใบรับรองการจดทะเบียนและขึ้นทะเบียนสัตว์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล หรือสถานที่ใดตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด

         ข้อ ๑๐ แบบใบรับรองการจดทะเบียนสัตว์ให้เป็นไปตามแบบ ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด 

         ข้อ ๑๑ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วให้เจ้าของบ้านหรือ เจ้าของสัตว์ มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงพร้อมหลักฐานทีเกี่ยวข้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่ เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด ภายใน ๓๐วันนับแต่วันที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

         ข้อ ๑๒ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ของสัตว์  ที่พักอาศัยของสัตว์  หรือเจ้าของสัตว์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว

ให้เจ้าของสัตว์มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลง  พร้อมหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน  ๓๐ วันนับแต่วันที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

        ข้อ ๑๓ ในกรณีที่สัตว์ตาย เจ้าของบ้านหรือเจ้าของสัตว์มีหน้าที่ต้องแจ้งการตายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กำหนด ภายใน ๓ วันนับแต่วันที่สัตว์ตาย เพื่อปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

        ข้อ ๑๔ ในกรณีที่สัตว์หายหรือได้พบสัตว์ที่หายแล้ว เจ้าของบ้านหรือเจ้าของสัตว์มีหน้าที่ต้องแจ้งการหายหรือพบสัตว์ที่หายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบเจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่สัตว์หายหรือพบสัตว์ที่หาย เพื่อปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

       ข้อ ๑๕ เมื่อบัตรประจำตัวสัตว์สูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้เจ้าของสัตว์แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อทำบัตรประจำตัวสัตว์ใหม่ ตามแบบเจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด 

       ข้อ ๑๖ ในกรณีที่สุนัขที่ไม่ใช่สุนัขควบคุมพิเศษทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคนให้เจ้าของสุนัขแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเปลี่ยนสาระสำคัญของบัตรประจำตัวสุนัข

           ในกรณีที่สัตว์ทำร้ายคน  ให้เจ้าของสัตว์แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเร็วเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

       ข้อ ๑๗ การแจ้งตามข้อ ๑๑ ข้อ ๑๒ ข้อ ๑๓ ข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ เจ้าของบ้านหรือเจ้าของสัตว์

อาจแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือโดยวิธีอื่นก็ได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด                

 

หมวดที่  ๓

การควบคุมการเลี้ยงสุนัขและแมว

 

         ข้อ ๑๘ ในการเลี้ยงสัตว์ให้เจ้าของสัตว์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อไปนี้

                  (๑) ต้องนำสัตว์ที่มีอายุระหว่าง ๒-๔ เดือนไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นครั้งแรกและต้องนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนครั้งต่อไปตามที่กำหนดในใบรับรองการฉีดวัคซีน

                  (๒) จัดสถานที่เลี้ยงตามความเหมาะสมของสัตว์โดยมีขนาดเพียงพอแก่การดำรงชีวิตของสัตว์มีแสงสว่างและการระบายอากาศที่เพียงพอ มีระบบการระบายน้ำและการกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด

                   กรณีเป็นสุนัขควบคุมพิเศษจะต้องเลี้ยงในสถานที่ หรือกรงที่สุนัขไม่สามารถเข้าถึงบุคคลภายนอกได้ และมีป้ายเตือนให้ระมัดระวังโดยสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

                   (๓) ต้องเลี้ยงสัตว์เฉพาะในบ้านตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้และควบคุมสัตว์มิให้ออกจาก สถานที่เลี้ยงโดยปราศจากการควบคุม

                   (๔) ควบคุมดูแลสัตว์มิให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น

                   (๕) รักษาสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้สะอาดอยู่เสมอ จัดเก็บสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะเป็นประจำไม่ปล่อยให้เป็นที่สะสมหมักหมมจนเกิดกลิ่นเหม็น หรือแหล่งเชื้อโรคที่เป็นอันตราย

                   (๖) ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติ หากเจ้าของสัตว์ไม่  สามารถเลี้ยงดูสัตว์ได้เป็นการชั่วคราว ต้องจัดให้มีผู้ดูแลความเป็นอยู่ของสัตว์ให้เป็นปกติ

                   (๗) จัดให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์ เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคที่เป็นอันตรายเฉพาะสัตว์เองหรือโรคที่เป็นอันตรายจากสัตว์สู่คน

                   (๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น

          ข้อ ๑๙ ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์  แสดงเครื่องหมายว่าฉีดวัคซีน  โดยยังไม่ได้ฉีดวัคซีนตามที่กำหนด

          ข้อ ๒๐ ให้เจ้าของสัตว์มีหน้าที่ต้องกำจัดสิ่งปฏิกูลอันเกิดจากสัตว์ของตนในที่  หรือทางสาธารณะหรือในสถานที่อื่นใดในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล

         ข้อ ๒๑ เจ้าของสัตว์ที่ไม่ประสงค์จะเลี้ยงสัตว์อีกต่อไป  ต้องมอบสัตว์พร้อมบัตรประจำตัวสัตว์ให้กับ  ผู้ประสงค์จะเป็นเจ้าของสัตว์รายใหม่  และผู้เป็นเจ้าของสัตว์รายใหม่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันรับมอบสัตว์

         เจ้าของสัตว์รายใหม่ต้องเป็นบุคคลผู้ที่ยินยอมรับด้วยความเต็มใจและมีความพร้อมต่อการเลี้ยง มีจิตใจรักสัตว์  ไม่นำสัตว์ไปทรมานหรือฆ่าหรือกระทำการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการทรมานสัตว์   

         ข้อ ๒๒ เมื่อมีกรณีสงสัยหรือพบว่าสัตว์ที่ตนเลี้ยงไว้มีอาการโรคพิษสุนัขบ้า อาการดุร้าย วิ่งเพ่นพ่าน กัดสิ่งที่ขวางหน้า หรือเซื่องซึมซุกตัวในที่มืด ปากอ้าลิ้นห้อยแดงคล้ำ น้ำลายไหล เดินโซเซตัวแข็งขาอ่อนเปลี้ย   เจ้าของสัตว์มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน ๒๔ ชั่วโมง

         ข้อ ๒๓ เมื่อสัตว์กัดหรือทำร้ายบุคคลใด ให้เจ้าของที่เป็นผู้ครอบครองสัตว์จับสัตว์นั้นกักขังไว้เพื่อ สังเกตอาการไม่น้อยกว่า ๑๐ วัน และแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือสัตวแพทย์ของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอดำเนินการตามระเบียบกฎหมายต่อไป

         ข้อ ๒๔ เมื่อสัตว์ตายด้วยเหตุตามข้อ ๒๒ หรือสงสัยจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเจ้าของสัตว์ต้องตัดหัวสัตว์นั้น บรรจุใส่ถุงพลาสติกแล้วนำไปแช่น้ำแข็ง หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสัตวแพทย์ของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอนิคมคำสร้อยแล้วนำส่งให้องค์การบริหารส่วนตำบล หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอนิคมคำสร้อยเพื่อตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้าและดำเนินการตามระเบียบกฎหมายต่อไป

                   ข้อ ๒๕ เมื่อสัตว์ตาย   เจ้าของสัตว์จะต้องกำจัดซากสัตว์  ให้ถูกสุขลักษณะ  เพื่อป้องกันมิให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เพาะพันธุ์แมลงหรือพาหะนำโรค  โดยวิธีที่ไม่ก่อเหตุรำคาญและไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ

          ข้อ ๒๖ เมื่อสัตว์ที่เลี้ยงไว้ มีอาการโรคพิษสุนัขบ้า  หรือเป็นโรคพิษสุนัขบ้า  หรือถูกสุนัขบ้ากัดเจ้าของสัตว์มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำลายหรือกักขังสัตว์นั้น แล้วแต่กรณี

          ข้อ ๒๗ เจ้าของสัตว์ หรือบุคคลอื่นใดมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวก  หรือไม่กระทำการใด อันเป็นการขัดขวางการจับกุมสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของในที่สาธารณะ หรือสอบถามข้อมูลหรือตรวจสัตว์ที่สงสัย ว่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรือทำลายสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

ข้อ ๒๘ เมื่อมีประกาศเขตโรคระบาดโรคพิษสุนัขบ้า หรือประกาศเขตโรคระบาดโรคพิษสุนัขบ้าชั่วคราว ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์   หรือซากสัตว์ภายใน และเข้า-ออก  ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล   เว้นแต่   ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก     สัตวแพทย์ของ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น

 

หมวด  ๔

การนำสัตว์ออกนอกสถานที่เลี้ยง

 

            ข้อ ๒๙ ผู้ใดนำสัตว์ออกนอกสถานที่เลี้ยง  ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

                     (๑) พกบัตรประจำตัวสัตว์   และแสดงบัตรประจำตัวสัตว์เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักสาธารณสุหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นเรียกตรวจ

                     (๒) ควบคุมสัตว์ด้วยอุปกรณ์ที่แข็งแรงพอที่จะหยุดยั้งมิให้สัตว์ทำร้ายผู้อื่น  หรือทำความ เสียหาย แก่สิ่งของสาธารณะ หรือของผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที

                     (๓) กรณีที่เป็นสุนัขควบคุมพิเศษ  ต้องสวมใส่อุปกรณ์ครอบปาก และสายลากจูงที่แข็งแรงและจับสายลากจูงสุนัขห่างจากตัวสุนัขไม่เกิน  ๕๐  เซนติเมตร

           ข้อ ๓๐ ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี หรือเกินกว่า ๗๐ ปี นำสุนัขควบคุมพิเศษออกนอกสถานที่เลี้ยง

                                                                                               

หมวด  ๕

อำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่  เจ้าพนักงานท้องถิ่น

และเจ้าพนักงานสาธารณสุข 

 

          ข้อ ๓๑ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานสาธารณสุข มีอำนาจดังต่อไปนี้

                  (๑) มีหนังสือเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำหรือแจ้งข้อเท็จจริง หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานใดเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อประกอบการพิจารณา

                  (๒) เข้าไปในสถานที่ใดๆ ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการเพื่อตรวจสอบ หรือควบคุมเพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัตินี้ ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริงหรือเรียกหนังสือ หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่นั้น

                  (๓) แนะนำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขหรือข้อบัญญัตินี้

                  (๔) แต่งตั้งข้าราชการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๔ แห่ง  พระราชบัญญัติสาธารณสุข  พ.ศ. ๒๕๓๕  ในเขตอำนาจขององค์การบริหารส่วนตำบล  ในเรื่องใดหรือทุกเรื่องก็ได้

         ข้อ ๓๒ กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่พบสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะ ในเขตห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ โดยไม่ปรากฏเจ้าของและปราศจากการควบคุม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถจับและควบคุมสัตว์ไว้ เพื่อดำเนินการตามข้อบัญญัตินี้และกฎหมายต่อไป

          ในกรณีที่เจ้าของสัตว์มาขอรับสัตว์คืนภายในกำหนด  เจ้าของสัตว์เป็นผู้เสียค่าใช่จ่ายสำหรับ การเลี้ยงดูสัตว์  ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล  ตามจำนวนที่จ่ายจริงด้วย

          ในกรณีที่ปรากฏว่าสัตว์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพบนั้นเป็นโรคติดต่ออันตราย  อันอาจเป็นอันตราย    ต่อประชาชน  ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควรได้

 

หมวด  ๖

บทกำหนดโทษ

          ข้อ ๓๓ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้าม  หรือข้อควรปฏิบัติตามข้อบัญญัตินี้  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท

 

          ประกาศ  ณ  วันที่        เดือน              พ.ศ.

 

(นายจำนงค์ ผลาเหิม)

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาอุดม

 

              เห็นชอบ

 

 

.................................................................

         นายอำเภอนิคมคำสร้อย